สัญญาณเตือนสุขภาพ Health Alert

สัญญาณเตือนสุขภาพ Health Alert

สัญญาณเตือนสุขภาพ Health Alert

สัญญาณเตือนสุขภาพเป็นเรื่องที่ควรต้องตระหนักและ
เหลียวหลังกลับมามอง ต้องฟังเสียง หัวใจทุกวัน นะครับ

คนเราส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยมีใครสังเกตความเป็นไปของร่างกายกันสักเท่าไหร่
 
      ถ้าร่างกายไม่ได้มีอะไรผิดปกติจนฉายชัดออกมาให้เห็น หรือ ป่วยไข้จนต้องนอนซมอยู่บนเตียง ก็มักเข้าข้างตัวเอง คิดว่าร่างกาย แข็งแรงดี ไม่ได้ป่วยเป็นอะไร โดยหารู้ไม่ว่า โรคบางโรคที่กำลังแอบ ก่อร่างสร้างตัวอยู่ในร่างกายนั้น จะไม่แสดงตัวตนออกมา

จนกระทั่งเมื่อพร้อม...
ก็นั่นแหละ...เวลานั้นอาจเกินเยียวยา
 
        สำหรับบางคน ที่บางครั้งบางคราวอยู่ๆ ก็เกิดอาการหน้ามืด เวียนหัว หรืออ่อนแรง เหนื่อยหอบขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แต่ด้วยความที่ขาดความใส่ใจต่อสุขภาพร่างกาย แล้วคิดเอาเองว่า ก็แค่พักสักหน่อยหรือกินยาแก้ปวดหัวสักเม็ดสองเม็ดเดี๋ยวก็หาย จากนั้นก็ลุยงานต่อ เพราะความเมินเฉยต่อสุขภาพร่างกาย เมื่อนานวันเข้าว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการถูกสะสม เป็นการสะสมทีละเล็ก ทีละน้อยเปรียบเสมือนจากเนื้อร้ายก้อนเล็กๆ ที่ค่อยๆ ลุกลามแพร่ขยายไปทั่วบริเวณ จนกระทั่งได้ครอบครองหมดทั้งพื้นที่
 
        สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนร่างกาย แม้แค่เพียงเล็กน้อย ถือว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างกับคุณแล้ว ถ้าคุณปรารถนาชีวิตที่ปกติสุข มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และชีวิตที่ยืนยาวจนกระทั่งมีหลานเหลน ก็ไม่ควรเมินเฉยต่อสิ่งเล็กๆ น้อยๆที่เกิดขึ้น
 
รู้สึกเหนื่อย
อ่อนเพลียง่ายกันหรือเปล่า?
 
        เพราะชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ ไหนจะต้องตื่นแต่เช้า รีบไปเรียนรีบไปทำงาน ส่วนเวลานอนก็เหลือน้อย จึงเป็นเรื่องปกติที่ใครหลายคนจะรู้สึกหมดเรี่ยวแรงและเหนื่อยง่ายกว่าเมื่อก่อนจริงๆ แล้วสาเหตุของอาการอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง มีด้วยกันหลายสาเหตุ ลองเช็กดูกันว่า ตัวคุณจะเข้าข่ายข้อไหน ตามต้นตอข้างล่างนี้เพื่อที่ว่า จะได้หาทางแก้ไขกันได้ถูกต้อง
 
  • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอโดยปกติ สำหรับผู้ใหญ่ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะการนอนหลับที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะทำให้คุณขาดสมาธิได้ง่าย
  • หยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) บางคนคิดว่าตัวเองนอนเพียงพอแล้ว แต่ความเป็นจริง ร่างกายคุณอาจเกิดการหยุดหายใจขณะหลับได้ ซึ่งทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปชั่วขณะ และทำให้ตื่นเป็นพักๆ ซึ่งสาเหตุนี้ พบได้บ่อยในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ 
  • การขาดน้ำหรือได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ร่างกายคนเรามีการควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล แต่ในกรณีที่ดื่มน้ำน้อย กินอาหารน้อย หรือมีการจำกัดอาหาร ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลไม่คงที่ และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย
  • ภาวะโลหิตจาง ถ้าปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกายลดลงการขนส่งออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ก็จะลดลงด้วย และนี่ก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย
  • ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ต่อมไทรอยต์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมในร่างกาย ถ้าระดับฮอร์โมนต่ำกว่าปกติ จะทำให้การทำงานของร่างกายช้าลง ไม่กระฉับกระเฉง
  • ดื่มกาเฟอีนมากเกินไป เราต่างรู้กันดีว่า กาเฟอีนเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวมีแรง แต่มีผลงานวิจัยที่พบว่า การดื่มกาเฟอีนในปริมาณมากเกินไปกลับส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียแทน 
  • โรคหัวใจ ถ้าอาการเหนื่อยเกิดขึ้นระหว่างการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ทำความสะอาดบ้าน นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า หัวใจของคุณเริ่มมีปัญหาซะแล้ว
 
เจ็บหน้าอก 
        เป็นความเคยชินที่ว่า ถ้าจู่ๆ มีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมา สิ่งแรกที่หลายๆ คนมักจะกังวลถึงคือ เป็นโรคหัวใจหรือเปล่า แต่อันที่จริงสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกมีได้หลายสาเหตุ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเกิดจากโรคหัวใจ และถ้าจะลองแยกแยะกันตามอวัยวะที่อาจทำให้มีอาการ ก็มีตั้งแต่หัวใจ ปอด หลอดอาหาร กล้ามเนื้อเส้นเอ็นกระดูกซี่โครง และเส้นประสาท เห็นมั้ยว่า ระบบการทำงานของร่างกายทุกสัดส่วนล้วนสัมพันธ์กัน เช่นนั้นแล้ว คุณจำเป็นต้องรู้ว่าอวัยวะส่วนใดในร่างกาย เมื่อเริ่มผิดปกติจะส่งผลกระทบทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอก
 

โรคหัวใจ
        อาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจ เกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ สำหรับอาการที่พบบ่อย คือปวดบริเวณหน้าอกด้านซ้ายรู้สึกแน่นๆ หนักๆ และมีอาการปวดร้าว ไปที่แขน ไหล่ และใต้คาง ส่วนตำแหน่งที่มีอาการจะไม่ชัดเจน แต่มักจะสัมพันธ์กับการออกแรงหรือออกกำลังกาย และถ้าเกิดจากการติดเชื้อของเยื่อหุ้มหัวใจ จะปวดตรงกลางๆ และอาจมีไข้ร่วมด้วย
 

โรคปอด
        โรคของปอด จะต้องมีอาการนำของ ทางเดินหายใจ คือ มีอาการเหนื่อย หอบ ไอ และถ้าเป็นเรื่องการติดเชื้อก็จะมีไข้ร่วมด้วย
 

กระดูก กล้ามเนื้อ และหน้าอก
        การอักเสบของกระดูกหรือกระดูกอ่อนบริเวณหน้าอก ลักษณะที่เจ็บจะเป็นแบบจี๊ดๆ แปลับๆ ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของโครงกระดูกหน้าอก เช่น การเอี้ยวตัว บิดตัว ยกของหนัก และหายใจเข้าลึกๆ โดยจะมีจุดที่กดเจ็บชัดเจน ถ้าลองกดไล่ไปตามตำแหน่งของซี่โครง ก็จะพบว่าตำแหน่งที่เจ็บอยู่ตรงไหน สำหรับเรื่องการรักษา ถ้าเป็นมากก็ควรกินยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและยาคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงงดการยกของหนัก
 

หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร
        บางครั้งคนที่มีกรดในกระเพาะมาก หรือมีภาวะกรดไหลย้อนก็จะมีอาการเจ็บหน้าอกเช่นกัน แต่จะรู้สึกร้อน burning pain ร่วมกับการเรอ และท้องอืด อาจมีอาการเวลาที่ท้องว่างนานๆ หรือหลังจากที่กินอาหารรสจัด รสเผ็ด หรือกินอาหารมื้อใหญ่ และถ้าเป็นมากควรต้องกินยาช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารร่วมกับควบคุมอาหารคือกินอาหารอ่อนๆ และรสไม่จัด


Dr. Carebear

 

COPYRIGHT©2024 SIAMPILL ALL RIGHTS RESERVED.