โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger)

โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger)

โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger)

              เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอะไรอะไรในร่างกายก็มักจะรวนไปหมด แถมยังถูกเปรียบเปรยว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่งอีกต่างหาก และยิ่งถ้าเป็นประเภทปล่อยปละละเลยสุขภาพมาตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ก็ไม่ต้องไปคาดเดาอะไร เพราะ โรคต่างๆ คงรุมกันตรึม พอพูดถึงโรคที่มักจะเกิดขึ้นกับคนสูงอายุก็นึกได้ว่ามีโรคหนึ่งที่พบกันได้บ่อย อายุเฉลี่ยที่พบคือ 52-62 ปีและพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
โดยปกติ เส้นเอ็นจะอยู่คู่กับแนวของกระดูก โดยที่ปลอกของเส้นเอ็นอยู่ล้อมรอบ Tendon Sheath และ­­เส้นเอ็นก็จะสามารถเคลื่อนไหวได้ตามการเหยียดและงอของนิ้ว แต่ถ้าบางส่วนของเส้นเอ็นมีการอักเสบหรือหนาตัวขึ้น และมีการไปยึดติดกับปลอกของเส้นเอ็นที่โคนนิ้ว จะทำให้เกิดการล็อกของนิ้วเมื่อนิ้วอยู่ในท่างอส่วนใหญ่มักจะเป็นที่นิ้วกลางหรือนิ้วนาง บางครั้งก็สามารถพบที่นิ้วโป้งได้ หรือในบางคนอาจจะเกิดพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้


อาการของนิ้วล็อก
  • มีความรู้สึก คลิก เวลาที่พยายามจะขยับนิ้ว
  • นิ้วติดหรือล็อกเมื่องอนิ้ว บางครั้งต้องใช้อีกมือหนึ่งมาช่วยดึงให้ตรง
  • รู้สึกขัดๆ ที่บริเวณโคนนิ้ว
  • รู้สึกขัดๆ ที่ฝ่ามือเมื่อมีการขยับนิ้วที่เป็น
  • มีอาการเจ็บนิ้ว โดยเฉพาะเมื่อกำมือ
  • อาการจะเป็นมากในช่วงเช้าตั้งแต่ตื่นนอน
 
สาเหตุของนิ้วล็อก
          เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นที่นิ้ว โดยที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าอักเสบเพราะอะไร แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่อาจจะสัมพันธ์กับการใช้งานที่ต้องทำให้มีการกำหรือเกร็งแบบซ้ำๆ เช่น การใช้กรรไกรตัดกิ่งเวลาทำสวน หรืออาจจะเกิดจากอุบัติเหตุทำให้มีการบาดเจ็บของมือและบ่อยครั้งที่พบในคนที่เป็นโรครูมาตอยด์ และคนที่เป็นโรคเบาหวาน
 

การรักษา
          การดูแลตัวเองเบื้องต้น พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้มีอาการเจ็บมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกของ หรือการใช้งานต่างๆบางรายอาการอาจจะดีขึ้นได้ในไม่กี่สัปดาห์
       
  การใช้ยา ยากลุ่มที่ลดอาการอักเสบของเส้นเอ็น เช่น ibuprofen สามารถลดอาการปวดและอาการบวมที่นิ้วได้ ในบางรายแพทย์จะทำการฉีด steroid เข้าไปบริเวณที่มีการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้การฉีดเกิน 1-2 ครั้ง เพราะมีผลข้างเคียงได้ แนะนำให้ทำการผ่าตัดหากฉีดยาแล้วไม่ดีขึ้น
         
การดามนิ้ว (Splint) ในรายที่เป็นไม่รุนแรง บางครั้งจะใช้การดามนิ้วในเวลากลางคืน เพื่อให้นิ้วเหยียดตรง บางครั้งจะใช้ร่วมกับการฉีดยาเฉพาะที่
         
การใช้เข็มเล็ก ๆ เข้าไปแก้ไข ในบางรายอาจจะไม่ถึงกับต้องผ่าตัด เพียงแค่ฉีดยาชา และใช้เข็มเล็กๆ เข้าไปแก้ไขตำแหน่งที่ติดล็อก percutaneous trigger finger release ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้ผล แต่ในบางรายก็ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
         
การทำกายภาพ มักจะใช้ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง โดยการใช้ความร้อนเพื่อเข้าไปยึดเส้นเอ็น โดยใช้ร่วมกับการฉีดยา หรือการผ่าตัด การฝึกยืดเส้นเอ็นสามารถทำได้เองที่บ้าน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพียงการรักษาที่เสริมจากวิธีอื่นๆ
         
การปรับเปลี่ยนด้านอาชีวเวชศาสตร์ เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้งานให้ถูกต้องภายหลังการผ่าตัด โดยจะเป็นการแนะนำให้ใช้งานให้ถูกวิธี ร่วมกับการทำกายภาพด้วยตัวเองที่บ้าน คือ ฝึกยืดเส้นเอ็นในระหว่างทำงานทุกวัน ทุกๆ สองหรือสามชั่วโมง หลีกเลี่ยงการใช้งานที่จะต้องมีการเกร็งหรือใช้แรงมากๆ เพื่อป้องกันการอักเสบที่จะเกิดขึ้นได้
          การผ่าตัด จะเป็นทางเลือกในการรักษา เมื่อวิธีอื่นๆ ใช้ไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นวิธีที่ได้ผลดี และทำให้ผลการรักษาดีในระยะยาว วิธีการจะเป็นการฉีดยาเพื่อบล็อกเส้นประสาทที่มือแพทย์จะทำการผ่าไปที่ตำแหน่งที่มีการติดยึดของเส้นเอ็นและปลอกเพื่อเลาะพังผืดบริเวณนั้นออก


Dr. Carebear
 

COPYRIGHT©2024 SIAMPILL ALL RIGHTS RESERVED.