ทำไมทุกคน ต้องกลัว ไขมันทรานส์ คืออะไร

ทำไมทุกคน ต้องกลัว ไขมันทรานส์ คืออะไร

ทำไมทุกคน ต้องกลัว ไขมันทรานส์ คืออะไร

            สำหรับ "ไขมัน" นั้นมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ ซึ่งจัดว่าน่ากลัวแล้ว ยังมีไขมันที่น่าสะพรึงยิ่งกว่า เรียกกันว่า Trans Fat หรือ "ไขมันทรานส์" เรื่องเกี่ยวกับไขมันชนิดนี้ คงมีการพูดถึงไปบ้างแล้ว แต่ที่นำมาฉายซ้ำ เพราะอยากจะตอกย้ำถึงอันตรายของมัน ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันถึงที่มาที่ไปของไขมันทรานส์กันก่อน แหล่งที่มามี 2 แหล่งคือ จากธรรมชาติ โดยได้จากการรับประทานเนื้อวัว ผลิตภัณฑ์นม เนื้อแกะ และเนื้อกวาง ซึ่งมีปริมาณน้อยนิดเหลือเกิน อีกแหล่งคือ จากการสร้างสรรค์ด้วยน้ำมือมนุษย์ โดยการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมันพืช ทำให้คุณสมบัติของน้ำมันพืชเปลี่ยนไป คือ ทนความร้อนขึ้นไม่ว่าจะนำมาใช้ซ้ำกี่ครั้งก็ตาม กระบวนการนี้ ยังทำให้น้ำมันที่มีสภาพเป็นของเหลวแปรเปลี่ยนเป็นกึ่งแข็งกึ่งเหลว ซึ่งง่ายในการขนส่ง ทั้งยังมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับไขมันจากสัตว์

            คุณสมบัติดังกล่าวนี้นับว่าถูกอกถูกใจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างยิ่ง และเท่านี้ยังไม่พอ ไขมันทรานส์ ยังทำให้บรรดาขนมกรุบกรอบ และของทอดทั้งหลายมีความกรอบทนกรอบนาน และทำให้อาหารแปรรูปมี Shelf Lift หรืออายุการเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น ทำให้วางอยู่บนชั้นจำหน่ายได้นานตามไปด้วย ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มถูกปลูกฝังให้รังเกียจคอเลสเตอรอล ซึ่งมีต้นตอจากไขมันอิ่มตัว เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการยิ่งหันเหมาใช้ไขมันทรานส์กันเป็นล่ำเป็นสัน ความที่ทำจากไขมันพืชนี่เองที่ทำให้ใครต่อใครเข้าใจว่า ไขมันพืช = ไขมันดี = ปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ภายหลังนักวิจัยก็ค้นพบว่าไขมันทรานส์นั้นร้ายยิ่งนักมันทำให้ LDL (ไขมันเลว) พอกพูน และไปทำลาย HDL (ไขมันดี) ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน โรคหัวใจ และอีกหลายโรค แม้จะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าร่างกายเรารับไขมันทรานส์ได้มากสุดเท่าไรแต่ทางที่ดีที่สุด คือ น้อยสุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงกันเถอะค่ะ มีหลากหลายวิธีที่เราสามารถหลบเลี่ยงเจ้าไขมันร้ายตัวนี้ เช่น
            หากชอบซื้ออาหารสำเร็จหรืออาหารแปรรูป อ่านฉลากก่อนทุกครั้งและอย่าหลงกลผู้ผลิต เช่น บางเจ้าไม่ได้พิมพ์คำว่า "Trans Fat" โต้งๆ แต่หากเห็นคำต่อไปนี้ "Partially Hydrogenated Vegetable Oil", "Vegetable Shortening" หรือ"Partial Hydrogenation" พึงระลึกเถอะว่า มันคือไขมันทรานส์ และถึงแม้ในฉลากจะระบุ "Trans Fat Free" ก็อย่าได้วางใจ เพราะหากเป็นอาหารสำเร็จรูปจากอเมริกาหรือแคนาดา หมายถึงมีไขมันทรานส์ได้ไม่เกิน 0.5 กรัม
            ถ้าเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องซื้ออาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบในรายการส่วนผสม ดูให้ไขมันทรานส์อยู่ล่างสุดของลิสต์ เพราะฉลากอาหารจะเรียงส่วนผสมจากมากสุดไปยังน้อยสุด
            อาหารที่มีแนวโน้มมีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ประกอบด้วย อาหารฟาสต์ฟู้ด บิสกิต โดนัท มัฟฟิน เค้ก แครกเกอร์ คุกกี้ เฟรนซ์ฟรายส์ ขนมหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของมาร์การีน ป็อปคอร์นกึ่งสำเร็จที่ต้องเข้าไมโครเวฟ อาหารแช่แข็ง อาหารทอด ขนมอบต่างๆ โดยเฉพาะที่ผลิตปริมาณมากในเชิงอุตสาหกรรม สังเกตว่าอาหารจะเก็บได้นาน หมดอายุช้า เลือกอาหารสไตล์โฮมเมด และหมดอายุเร็วจะดีกว่า
            อย่าปล่อยให้ตัวเองหิว ควรพกพาอาหารว่างเพื่อสุขภาพ เช่น ผลไม้สด ผลไม้แห้ง ถั่วต่างๆ เมล็ดพืชไว้ประทังความหิว ป้องกันการกินอาหารขยะ หรือกินแบบไม่เลือกในยามหิวจัด
            หากรับประทานอาหารนอกบ้าน หลีกเลี่ยงอาหารทอด ถึงไม่ใช่ไขมันทรานส์ แต่การใช้น้ำมันทอดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอยู่ดี นอกจากนั้นร้านอาหารหลายร้านใช้อาหารแช่แข็งมาอุ่นแล้วเสิร์ฟให้ลูกค้า อาหารแช่แข็งที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงที่จะมีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ
            จะเป็นการดี หากพยายามทำอาหารรับประทานเองมากกว่าฝากท้องไว้กับร้านอาหารนอกบ้าน อย่างน้อยเราสามารถคัดเลือกวัตถุดิบและหลีกเลี่ยงสารปรุงแต่งหรือเครื่องปรุงที่ร่างกายไม่พึงปรารถนาไปได้
 
            เพราะคนเราต้องรับประทานอาหารทุกวัน เรื่องกินจึงเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ มีคำกล่าวที่ว่า "อาหารอายุยาว ทำให้อายุเราสั้น อาหารอายุสั้น ทำให้อายุเรายาว" ถึงจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริง 100% แต่เชื่อเถอะว่ามันมีส่วนอย่างมาก ไม่งั้นเขาคงไม่มีวลีฮิตติดหูคนรักสุขภาพว่า You are what you eat "กินอย่างไร ได้อย่างนั้น" มาดูแลสุขภาพกันเถอะนะคะ!!!


credit หนังสือ THE FIRST WEALTH IS HEALTH กินดีอยู่ดี  
 
ผู้เขียน วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์ ผู้ให้สาระ และ ความรู้ที่น่าสนใจ

COPYRIGHT©2024 SIAMPILL ALL RIGHTS RESERVED.