ผู้ป่วยเบาหวานต้องอ่าน ถ้าไม่อยากเสี่ยงตาย จากการออกกำลังกายแบบผิด ๆ
กล่าวถึงโรคเบาหวาน ผมบอกได้เลยครับว่าเป็นโรคยอดนิยมของประเทศไทยและผู้คนทั่วโลก เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงและละเลยการออกกำลังกาย ทำให้อัตราของผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นสูงขึ้นแทบจะทุกวันเลยทีเดียว ยิ่งในปัจจุบันผู้คนที่เป็นเบาหวานก็มีอายุที่ลดลงเรื่อย ๆ จากการสำรวจพบว่า วัยรุ่นเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งทางที่ดีท่านต้องควบคุมอาหารในการรับประทานทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้นั่นเองครับ โดยในวันนี้ผมจะมาบอกกล่าวเกี่ยวกับการออกกำลังกายของผู้ที่เป็นเบาหวาน ซึ่งถ้าโดยปกติทั่วไปแล้ว การออกกำลังกายถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ในกลุ่มที่เป็นเบาหวานนั้นจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าหากพลาดพลั้งขึ้นมา อันตรายถึงตายได้เลยครับ ซึ่งผมจะสรุปเป็น 4 ข้อ เพื่อให้ท่านเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนี้…
ข้อที่ 1 ห้ามออกกำลังกายหนักมากจนเกินไป
หากถามว่าทำไมผู้ป่วยเบาหวานถึงไม่ควรออกกำลังหนัก ๆ ก็เพราะว่าการออกกำลังกายหนัก ๆ นั้นจะทำให้มีภาวะเลือดเป็นกรดสูง ซึ่งพอเลือดเป็นกรดสูงอาจจะทำให้เกิดช็อกและหมดสติได้นั่นเองครับ ในกรณีที่เป็นหนัก ๆ อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ซึ่งก็คงจะมีคำถามตามมาว่าแล้วผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะต้องออกกำลังกายอย่างไร?
ผมแนะให้เป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ครับ เช่น เต้นแอโรบิก การเดิน หรือเล่นโยคะ จะดีต่อร่างกายมากที่สุดครับ โดยระยะเวลาในการออกกำลังก็เหมือนคนธรรมดาปกติทั่วไปคือ 20-30 นาที และไม่ควรเกิน 60 นาที เพราะนั่นอาจจะทำให้ร่างกายเหนื่อยจนเกินไป จนทำให้เลือดเป็นกรดเอาได้อันตรายถึงชีวิตถ้าฝืนที่จะออกกำลังกายแบบหนักหน่วง
สำหรับใครที่ยังดื้อดึงว่าการออกกำลังกายหนัก ๆ ในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานนั้น ไม่เป็นไรหรอก! ผมขอบอกเลยนะครับว่าให้ท่านเปลี่ยนความคิดแบบด่วน ๆ เพราะมันไม่ได้มีแค่อาการช็อกจากเลือดกรดเป็นเท่านั้น แต่มันยังมีเรื่องของหัวใจเข้ามาเกี่ยวพันด้วย คือการที่เป็นโรคเบาหวานเนี่ยมักจะมีอัตราความดันที่สูงอยู่แล้ว พอออกกำลังกายมากเกินไปอาจจะทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้และผลที่ตามมาก็ไม่ต้องพูดถึงครับ รุนแรงมากกว่าที่คิดไว้อย่างแน่นอน อีกทั้งการยกเวทหนัก ๆ นี่เป็นอะไรที่ผมไม่แนะนำแบบสุด ๆ เพราะมันอาจจะทำให้ความดันภายในร่างกายขึ้นสูงปี๊ด! ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานขึ้นตา อาจจะทำให้ทำให้มีเลือดออกภายในตาและทำให้ตาบอดลงในที่สุด เห็นไหมล่ะครับว่ามันอันตรายจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แบบที่ใครหลาย ๆ คนเข้าใจ
ข้อที่ 2 ไม่เช็กน้ำตาลก่อนการออกกำลังกาย
สิ่งที่เป็นอันตรายในการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคเบาหวานในข้อที่สอง คือการไม่เช็กน้ำตาลในเลือดก่อนการออกกำลังกาย
ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลินทุกวัน แบบนั้นยิ่งมีความอันตรายครับ เพราะภาวะน้ำตาลที่แกว่งจากการออกกำลังกายเป็นอันตรายมาก มากถึงขนาดทำให้ท่านช็อกหมดสติได้เลยทีเดียว ซึ่งถ้าท่านเช็กแล้วว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรล้มเลิกความตั้งใจในการออกกำลังกายไปก่อนครับ เพราะนั่นอาจจะทำให้ท่านหน้ามืดได้
แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ต้องฉีดอินซูลินเลย ก็ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไรออกกำลังกายได้ แต่ก็ไม่ควรออกกำลังกายหนักอยู่ดี ค่อย ๆ เริ่มออกกำลังไปที่ละนิด ให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว
ซึ่งเทคนิคการป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์นั่นก็คือ
1. ออกกำลังกายในเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอ
2.รับประทานอาหารว่างก่อนการออกกำลังกาย เช่น ขนมปังแผ่น นม เป็นต้น
3.พกลูกอมติดตัวไว้ เพื่อป้องกันการเกิดสภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ข้อที่ 3 อย่าให้เกิดแผลจากการออกกำลังอย่างเด็ดขาด
เป็นที่รู้กันดีครับว่า ปลายประสาทมือหรือปลายประสาทเท้าของผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่จะเสื่อมทำให้ต้องตรวจสอบร่างกายอยู่เสมอ เพราะบางคนออกไปวิ่งจนเท้าเกิดแผลแต่ไม่รู้สึก กว่าจะรู้ตัวอีกที่แผลก็ใหญ่จนกัดกินเนื้อเยื่อลามเข้ากระดูกเป็นหนอง จนสุดท้ายต้องโดนตัดขาไปในที่สุด ยิ่งถ้าเป็นตาปลาด้วยแล้ว ผมบอกเลยครับว่าอันตรายมาก ๆ
เพราะผู้ป่วยหลาย ๆ คนไม่รู้ตัวจนเชื้อลุกลามเกินกว่าจะรักษา ผลสุดท้ายจากตาปลาเป็นการโดนตัดขาไปในที่สุด ทางแก้ง่ายเลยครับ คือ…
1. รักษาความสะอาดมือและเท้าอยู่เสมอ
2. หมั่นตัดเล็บเท้า เล็บมือ ให้สั้น เพื่อป้องกันการขีดข่วนที่อาจจะทำให้เกิดแผล
3. สวมใส่รองเท้าที่ไม่คับจนเกินไป
4. ลดการออกกำลังกายที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างกายเกิดแผลกดทับ
5. ตรวจสอบร่างกายของตัวเอง อย่าปล่อยให้แผลติดเชื้อ
เพียง 5 ข้อข้างต้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรอดพ้นจากการโดนตัดขา ตัดแขนแล้ว
ข้อที่ 4 อย่าดันทุรังถ้าท่านอยู่ใน 4 กลุ่มเสี่ยง
แม้ว่าการออกกำลังจะเป็นเรื่องที่ดีมากสักแค่ไหน แต่คงไม่ใช่กับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเสมอไปครับ เพราะเมื่อไหร่ที่ท่านอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 4 ที่ผมกำลังจะกล่าวต่อไปนี้ บอกได้เลยครับว่า ‘ห้ามออกกำลังกายโดยพลการอย่างเด็ดขาด’ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังทุกครั้ง
ซึ่ง 4 กลุ่มเสี่ยงมีดังนี้
1. กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ยังไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ค่าของน้ำตาลภายในเลือดสวิงบางทีน้ำตาลตก ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืดและช็อกหมดสติได้
2. กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูง สูงในที่นี้คือตัวบน 200 และตัวล่างมากกว่า 100 แบบนี้ผมไม่แนะนำให้ออกกำลังอย่างเด็ดขาดครับ เพราะความดัน 200 เนี่ย มันจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากๆ ดังนั้นถ้าเกิดความดันสูงขึ้นมา อย่ามัวแต่ซะล่าใจรีบไปพบแพทย์ให้ไวที่สุดครับ
3. ผู้ป่วยเบาหวานที่มีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ ซึ่งอาการนี้จะพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ดังนั้นถ้าต้องการออกกำลังกายจริงๆ ลองไปปรึกษาแพทย์ก่อนครับ เพื่อความชัวร์จะได้ไม่ต้องการมานั่งน้ำตาตกในภายหลัง
4. ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการแน่นหน้าอก หากร่างกายของท่านยังไม่สามารถควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจได้ ต้องอมยาใต้ลิ้นตลอด ผมไม่แนะนำให้ออกกำลังกายแบบหนักๆ ครับ แต่ก็ใช่ว่าจะห้ามขยับเขยื้อนตัว
เลย เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังจากที่เคยวิ่ง ก็ลองเป็นเดินช้าๆ ดูครับวันละประมาณ 5,000-8,000 ก้าว กำลังดีเลยทีเดียว
ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี แต่ในกรณีของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว
จะต้องเคร่งครัดและเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์เป็นหลัก เพราะท่านต้องเข้าใจว่าระบบภายในร่างกายของท่านไม่ได้เหมือนกับคนทั่วไป
ดังนั้นปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่าครับ รอร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ 100% หรือหายขาดจากโรคนี้เมื่อไหร่ ท่านจะออกกำลังหนักสักแค่ไหน ก็ไม่มีใครมาว่าท่านอย่างแน่นอน
credit อายุ 100 ปี ง่ายแค่นี้เอง!
นพ. นันทพล พงศ์รัตนามาน