น้ำดื่มอะไรบ้าง ที่สามารถบำรุงไตได้
น้ำอะไรบนโลกนี้ ท่านเคยสงสัยบ้างไหมครับว่าน้ำที่สามารถบำรุงไตให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้งหนึ่งได้? ซึ่งถ้าท่านเคยมีคำถามแบบนี้อยู่ในหัว เราคือเพื่อนกันครับ เพราะก่อนที่ผมจะก้าวขึ้นมาเป็นแพทย์ คำถามนี้ก็วนเวียนอยู่ในหัวของผมแทบจะตลอดเวลา และแล้วสิ่งที่ผมรอคอยมาก็ปรากฏ! เพราะผมได้คำตอบมาแล้วว่าน้ำอะไรที่จะสามารถบำรุงไตได้!
อ่ะ อ่ะ อ่ะ กล่าวมาแบบนี้หลายๆ ท่าน คงอยากจะทราบกันแล้วใช่ไหมล่ะว่าน้ำที่ผมหมายถึงมันคือ น้ำอะไร ซึ่งจะให้บอกไปตรงๆ ก็คงจะไม่ใช่สไตล์หมอท็อปอย่างแน่นอน ดังนั้นผมจึงรวบรวมน้ำแทบจะทุกประเภท มาให้ท่านได้อ่านและหาคำตอบไปพร้อมๆ ฉะนั้นไม่ให้เป็นการเสียเวลา
เราไปดูน้ำชนิดแรกกันเลย!
1. น้ำเปล่า
หากถามว่าน้ำเปล่าบำรุงไตได้ไหม? ผมคงจะตอบได้ไม่เต็มปาก เพราะต้องดูปริมาณในการดื่มน้ำของท่านเป็นหลักว่า แต่ละวันท่านดื่มน้ำมากน้อยเท่าไร? ซึ่งถ้าดื่มน้ำน้อยไปบอกได้เลยว่าท่านมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องพบเจอกับการเกิดนิ่วในไต แต่ถ้าดื่มน้ำมากไปก็ไม่ได้มีผลดีผลเสียต่อไตเท่าไรนักนอกจากกรณีของผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง ห้ามดื่มน้ำเยอะจนเกินความพอดีอย่างเด็ดขาด! ไม่เช่นนั้นอาจจะงานงอก เอาได้ง่ายๆ เพราะตัวจะบวมแน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก ฉะนั้นดื่มน้ำเปล่า ในปริมาณที่พอดี คงจะเป็นอะไรที่ดีที่สุดต่อร่างกายของคนเราแล้วล่ะครับ
น้ำร้อนน้ำเย็นมีผลต่อไตไหมนะ?
สำหรับคำถามที่ว่าน้ำร้อนกับน้ำเย็นมีผลต่อไตไหม? ผมขอบอกเลยครับว่า “ไม่มี” เลือกดื่มน้ำได้ตามสะดวก ใครใคร่ดื่มแบบไหนก็เลือกเอาเลยครับ เพราะอย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น น้ำเปล่าจะมีผลหรือไม่มีมันขึ้นอยู่กับปริมาณที่ท่านดื่มต่อวันซะมากกว่า
ปริมาณน้ำเปล่าที่พอดีกับร่างกายคือเท่าไรกันแน่?
ปกติแล้วร่างกายของคนเราจะต้องการน้ำประมาณ 2 ลิตร/วัน หรือถ้าจะให้คำนวณแบบเป๊ะๆ ก็เอาน้ำหนักของท่าน x30 เช่น น้ำหนัก 70 ก็ 70 x 30 = 2,100 cc. (2.1 ลิตร)/วัน หรือถ้าท่านขี้เกียจจะมานั่งคำนวณก็ให้สังเกตดูได้จากสีของปัสสาวะ ถ้าเกิดสีเหลืองอ่อนก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่เมื่อไรที่สีเหลืองเข้มขึ้นมาก็คงต้องรีบหาน้ำมาเติมให้ร่างกายแบบด่วนๆ แล้วล่ะครับ
2. น้ำหวานชนิดต่างๆ
มาต่อกันที่น้ำหวานครับ สำหรับน้ำหวานนี้บอกได้เลยครับว่าผู้ที่เป็นไตสามารถดื่มได้อย่างไม่มีปัญหา (ในปริมาณที่พอเหมาะครับ!) แต่ถ้าผู้ป่วยคนไหนเป็นทั้งเบาหวานและเป็นโรคไตร่วมด้วย คงต้องระวังน้ำชนิดนี้เป็นพิเศษ ยิ่งในชานมไข่มุกด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครต่างก็ต้องระวังเรื่องน้ำตาลเอาไว้ให้ดี เพราะในชาไข่มุกนั้นมีน้ำตาลที่สูงมาก และถ้ายิ่งน้ำหวานตัวไหนมีการผสมของครีมเทียม นมข้นหวาน นมข้นจืด ด้วยแล้วนั้นก็คงจะไม่ค่อยเหมาะกับผู้ป่วยโรคไตเท่าไรนัก แต่ถ้าถามว่าดื่มได้ไหมก็ดื่มได้บ้าง แต่ไม่ดื่มจะดีกว่าครับ
3. ชา กาแฟ
น้ำชา กาแฟถือว่าเป็นกลุ่มที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ ซึ่งถามว่าดื่มได้ไหม? ในกรณีของคนธรรมดาก็ดื่มได้ครับ ไม่มีอะไรให้น่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ใช่เล่นดื่มวันละ 5 แก้ว แบบนั้นมันก็จะเกินเรื่องไปสักหน่อย โดยส่วนตัวผมเอง จะดื่มกาแฟดำในช่วงเช้า 1 แก้ว เพื่อสร้างความสดชื่นให้แก่ร่างกาย แต่เน้นย้ำนะครับว่าเป็นกาแฟดำ ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่นมอะไรทั้งสิ้น ซึ่งการดื่มกาแฟดำในปริมาณที่เหมาะสมจะส่งผลดีมากกว่าผลเสียต่อร่างกายครับ แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 4-5 พวกกาแฟพวกน้ำชาที่มีการใส่นมหรือครีมเทียม ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่สมควรจะดื่มเป็นอย่างยิ่ง เพราะภายในเครื่องดื่มพวกนี้มีฟอสฟอรัสสูง อาจจะทำให้มีอาการคันตามร่างกายเอาได้นั่นเองครับ
4. น้ำเกลือแร่
สำหรับการดื่มน้ำเกลือแร่ ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ได้มีผลต่อไตในกรณีที่ร่างกายของท่านแข็งแรง แต่อาจจะต้องระวังในเรื่องของน้ำตาลแทนซะมากกว่า เพราะในน้ำเกลือแร่บางยี่ห้อ มีน้ำตาลผสมอยู่มากกว่า 6-8 ช้อนชา ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เยอะมาก มากกว่าที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นใครที่ต้องการจะดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อบำรุงไต ท่านอาจจะต้องวนกลับมารักษาโรคเบาหวานแทนถ้าดื่มน้ำเกลือแร่ในปริมาณที่เยอะเกินความพอดี แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 4-5 ไม่สมควรจะดื่มน้ำเกลือแร่เป็นอย่างยิ่ง ด้วยส่วนประกอบต่างๆ อาจจะส่งผลให้ค่าไตสูงขึ้น จนทำให้ตัวท่านเองลำบากได้ในภายหลัง
5. น้ำแร่จากยอดเขาต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นน้ำแร่จากยอดเขาไหน ก็ยังไม่มีผลการวิจัยที่แน่นอนว่ามันจะช่วยให้ไตของท่านแข็งแรงขึ้นได้ครับ ซึ่งถ้าท่านไม่ได้มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับสุขภาพ ก็คิดซะว่าการดื่มน้ำแร่จะช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกายดื่มได้สบายๆ ไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระยะที่ 4-5 ก็ไม่ควรจะเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงกับน้ำแร่ ที่ยังไม่มีผลการรับรองออกมาที่แน่ชัด ฉะนั้นน้ำเปล่าแช่เย็นคงจะเป็นทางออก ที่ดีที่สุดให้กับท่านแล้วล่ะครับผม
6. น้ำสมุนไพร
อันดับแรกผมต้องขอบอกก่อนนะครับว่าน้ำสมุนไพรกับยาสมุนไพรมันไม่เหมือนกัน! น้ำสมุนไพรนี้ก็จะเป็นพวกน้ำขิง น้ำอัญชัน น้ำใบเตยต่างๆ ที่ไม่ได้มีความเข้มข้นของตัวสมุนไพรเท่าไรนัก เน้นการดื่มที่สดชื่น รสชาติอร่อยซะมากกว่า แต่สำหรับยาสมุนไพรจะเป็นการสกัดเอาส่วนผสมสำคัญของพืชสมุนไพรมารับประทานเพื่อรักษาโรคร้ายต่างๆ ฉะนั้นแล้วท่านต้องแยกให้ออกก่อนครับ ซึ่งการดื่มน้ำสมุนไพรนั้นไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง แต่จะเป็นปัญหาสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 4-5 ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็หลีกเลี่ยงครับ เพราะถ้าท่านดันทุรังดื่มน้ำสมุนไพรเข้าไปมาก อาจจะทำให้ท่านต้องฟอกไตไวกว่าเดิม
7. น้ำผลไม้
หากถามว่าน้ำผลไม้ต่างๆ สามารถบำรุงไตได้ไหม? ก็คงตอบได้ว่ามันไม่สามารถไปบำรุงอะไรได้มากมายอยู่แล้วครับ เพราะความจริงไตของคนเรามันไม่ได้ต้องการสารอาหารหรือรับการดูแลอะไรเป็นพิเศษ ขอเพียง แค่อย่าไปทำร้ายมันก็พอ ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่พอดี เพียงแค่นี้ไตของท่าน ก็จะสุขภาพดีแข็งแรงไม่สร้างปัญหาอย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง อาจจะต้องระวังในการดื่มน้ำผลไม้สักหน่อย เพราะในน้ำผลไม้มีน้ำตาลสูง และบางชนิด เช่น น้ำส้มคั้น มีโพแทสเซียมสูงมาก เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไต ซึ่งทางที่ดีรับประทานผลไม้ที่เป็นผลสดๆ จะดีกว่าครับ ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ ไม่ต้องมานั่งเสี่ยงเรื่องของน้ำตาลให้เป็นกังวลอีกด้วย
เป็นอย่างไรบ้างครับกับทั้ง 7 น้ำที่ผมนำมาฝาก! ท่านคงจะได้รับคำตอบแล้วนะครับว่าน้ำชนิดไหนบ้างที่สามารถบำรุงไตได้จริง และน้ำชนิดไหนบ้างที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง ซึ่งผมจะขอสรุปให้ท่านฟังชัดๆ อีกทีเพื่อเป็นการเตือนความจำนะครับ น้ำที่เหมาะแก่ผู้ป่วยโรคไต และประชาชนทั่วไปมากที่สุดก็คือ....น้ำเปล่าครับ โดยน้ำเปล่านี่แหละที่ว่าเป็นเครื่องดื่มชั้นดี ที่ไม่ต้องไปเสาะแสวงหาให้เหนื่อยแรง แต่ก็ต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสมนะครับ เพราะถ้าดื่มมากเกินที่ร่างกายต้องการ ก็อาจจะส่งผลร้ายให้กับร่างกายของเราได้ และน้ำที่ผู้ป่วยโรคไตควรจะหลีกเลี่ยงนั่นก็คือ น้ำเกลือแร่ น้ำแร่ ชา กาแฟที่ใส่นมเยอะๆ ครับ ยิ่งอยู่ห่าง ยิ่งไม่ดื่มเท่าไรก็จะเป็นผลดีต่อร่างกายและไตมากเท่านั้น แต่สำหรับใครที่ยังแข็งแรง ก็ไม่ต้องเป็นกังวลครับ ดื่มกันให้เต็มที่ จะน้ำจากยอดเขาลูกไหน ก็ดื่มให้สะใจตามสะดวกแต่ก็ต้องระวังเรื่องน้ำตาลที่แอบแฝงมาด้วย เพราะอาจจะเป็นเบาหวานแทน ซึ่งข้อมูลที่ผมกล่าวไปคงจะเป็นประโยชน์และเป็นการตอบคำถามให้กับหลายๆ คนได้นะ
กฎเหล็กของเลข 8
ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว นอนวันละ 8 ชั่วโมง กินอิ่ม 80% ในแต่ละมื้อ และเดินวันละ 8,000 ก้าว แค่ทำกฎง่ายๆ 4 ข้อนี้ได้ในทุกวันอย่างผม ก็จะมีสุขภาพที่ดีอย่างแน่นอน แค่นี้แหละครับไม่มีเทคนิคอะไรมากมาย เริ่มทำได้เลย!
credit อายุ 100 ปี ง่ายแค่นี้เอง!
นพ. นันทพล พงศ์รัตนามาน