มาทำอาหาร ให้เป็นยา กันเถอะค่ะ เพื่อสุขภาพ

มาทำอาหาร ให้เป็นยา กันเถอะค่ะ เพื่อสุขภาพ

มาทำอาหาร ให้เป็นยา กันเถอะค่ะ เพื่อสุขภาพ

“Let food be your medicine and medicine be your food”
                เป็นวลีฮิตของฮิปโปเครตีส บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ชาวกรีกที่แวดวงผู้ใส่ใจสุขภาพมักยึดเป็นหลักเพื่อนำไปสู่การมีร่างกายแข็งแรงโดยปกติ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายของเราจะมีกลไกเยียวยาตัวเองระดับหนึ่งอยู่แล้ว และเพื่อเป็นการช่วยให้ร่างกายกลับสู่ภาวะสมดุลเร็วที่สุด นอกจากยาหรือสมุนไพรต่าง ๆ แล้ว อาหารก็มีส่วนช่วยทำให้อาการฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย เช่น การจิบน้ำผึ้งผสมมะนาวแก้วหวัด กลั้วน้ำเกลือแก้เจ็บคอ หอมใหญ่หมักในน้ำผึ้งเมื่อนำมากรองจะได้ยาแก้ไอชั้นดี กระเทียมทุบแล้วทารอยเกลื้อนจะทำให้หายเร็ว ยังไม่รวมอีกสารพัดอาหารฤทธิ์ร้อน (หยาง) – เย็น (หยิน) ที่เราเลือกกินเพื่อปรับสมดุลในร่างกาย
                อาหารในแต่ละวันที่กินเข้าไปส่งผลต่อสภาพร่างกายแน่นอน อาจจะไม่เห็นผลทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาการทางกายจะค่อย ๆ แสดงออก หากเลือกกินดี ๆ ผลก็จะแสดงออกในทางที่ดี แต่ถ้ากินแย่ ๆ ร่างกายก็รับไปเต็ม ๆ เช่นกัน เหมือนในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Super Size Me ที่ตัวเอกในเรื่องใช้ตัวเองเป็นหนูทดลองโดยการรับประทานอาหารของเชนร้านฟาสต์ฟู้ดเจ้าดังเจ้าหนึ่งเป็นเวลา 30 วัน ติดต่อกัน ผลคือน้ำหนักขึ้น 11 กิโลกรัม ไขมันพุ่ง ความดันเพิ่ม สารพิษในตับสะสมจนเกือบทำให้ไตวาย จริงอยู่ที่ในชีวิตจริงไม่มีใครบ้าระห่ำกินฟาสต์ฟู้ดวันละ 3 มื้อขนาดนั้น แต่หนังก็ทำให้เห็นภาพคร่าว ๆ ว่าการบริโภคอาหารแบบไม่สมดุลก่อให้เกิดผลร้ายอย่างไร
                ในทางกลับกัน คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ โรคไต ไขมันในเลือดสูง และอีกหลายโรค นอกเหนือไปจากการปรับเปลี่ยน14
พฤติกรรมการใช้ชีวิต การระมัดระวังเรื่องอาหารการกินก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งผู้เขียนมีเพื่อนเป็นชายหนุ่มวัย 40 ที่ถูกโรคความดันสูงมาเยือนแบบไม่ทราบสาเหตุอีกทั้งคนในครอบครัวก็มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก (Stroke) ความที่ไม่อยากมีชะตาชีวิตแบบนั้น และไม่ต้องการกินยาลดความดันตามคำแนะนำของแพทย์ เขาเริ่มดูแลตัวเองอย่างจริงจังโดยการตื่นแต่เช้าเพื่อออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ควบคุมอาหารที่ส่งผลต่อความดัน เช่น ลดอาหารเค็ม อาหารไขมันสูง อาหารแปรรูป เน้นรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช ข้าวกล้อง และดูแลอารมณ์ไม่ให้เครียด ผลคือความดันลดลงสู่ระดับปกติโดยไม่ต้องพึ่งยา ซึ่งถ้าไม่อยากให้ความดันขึ้น เขาก็จะต้องคงไลฟ์สไตล์แบบนี้ไปตลอด
                อีกกรณีหนึ่งซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายคนรวมถึงผู้เขียนเกี่ยวกับการดูแลตัวเองด้วยวิถีธรรมชาติบำบัดคือกรณีของ นพ.บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ คุณหมอผู้ถูก 6 โรครุมเร้า ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ ตับอักเสบ และปริมาณเม็ดเลือดแดงมากเกินไป คุณหมอบุญชัยสามารถฝ่าฟันมรสุมเหล่านั้นจนทำให้ฟื้นตัวและโรคร้ายหายเป็นปลิดทิ้งได้โดยไม่ต้องใช้ยาเพียงแต่ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอาหารการกินด้วยถ้าใครสนใจอยากอ่านคัมภีร์สุขภาพอันเกี่ยวเนื่องกับ “กฎต้อง 5 ห้าม 5”ของคุณหมอบุญชัย ลองค้นหาข้อมูลดูค่ะ น่าสนใจมาก
                สำหรับคนที่ไม่มีโรคภัยกล้ำกราย ให้ถือว่าเป็นโชคลาภแต่ก็อย่าชะล่าใจจนเกินไป หากยังใช้ร่างกายแบบไม่ถนอมกล่อมเกลี้ยง สักวันหนึ่ง อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอาจพร้อมใจประท้วงเจ้าของได้ การดูแลร่างกายวิธีหนึ่งคือจากอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวันซึ่งแบ่งเป็น “การเลือก” รับประทานอาหารที่ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ กับ“การหลีกเลี่ยง” อาหารที่อาจทำให้เกิดโรค อาหารเปรียบเสมือนดาบสองคม หากรู้จักเลือก อาหารจะกลายเป็นยาที่บำบัดโรค ในทางกลับกัน หากไม่ระมัดระวัง อาหารก็อาจเป็นยาพิษที่ทำร้ายเราอย่างช้า ๆ ได้เช่นกัน
 
                มีคำกล่าวของชาวจีนที่บอกว่าการต่อสู้กับโรคร้ายหลังจากที่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นก็เหมือนกับความพยายามที่จะขุดบ่อหาน้ำดื่มในยามที่กำลังกระหายน้ำ นั่นแหละ ความหมายก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคย่อมดีกว่าการรักษาในภายหลังนั่นเอง อาหารที่เรารับประทานในชีวิตประจำวันเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างมาก อยากให้อาหารเป็น “ยารักษาโรค” หรือเป็น “ยาพิษ” อยู่ที่ตัวเราเลือกการเปลี่ยนแปลงตัวเองหากเริ่มจากวันนี้ ไม่มีคำว่าสายเกินไป แม้จะเริ่มจากทีละเล็กละน้อย หากปฏิบัติเป็นประจำ เชื่อเถอะค่ะว่ามันนำไปสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ได้


credit หนังสือ THE FIRST WEALTH IS HEALTH กินดีอยู่ดี  
 
ผู้เขียน วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์ ผู้ให้สาระ และ ความรู้ที่น่าสนใจ

COPYRIGHT©2024 SIAMPILL ALL RIGHTS RESERVED.