ไอโอดีน สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

ไอโอดีน สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย

ไอโอดีน
            ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แม้ร่างกายจะต้องการปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่ก็ขาดไม่ได้จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองความจำ การทำงานของร่างกาย และควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน จึงมีผลต่อการใช้พลังงานและอุณหภูมิของร่างกาย
            ไอโอดีนเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะจับกับกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) สร้างเป็นฮอร์โมนที่ชื่อว่า ไทรอกซิน (Thyroxine) หรือไทรอยด์ฮอร์โมนที่ฟอลิเคิลเซลล์ในต่อมไทรอยด์ที่อยู่บริเวณคอ

ไอโอดีน

            ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิดพบมากที่สุดในสาหร่ายทะเล และยังพบในพืชที่ขึ้นบนดินที่มีไอโอดีนสูง เช่น ชา ปัจจุบันมีการเสริมไอโอดีนในไข่ไก่ เกลือ น้ำปลาและเครื่องปรุงรสที่ใช้เกลือเป็นส่วนประกอบพบว่าปลาทะเล 100 กรัม มีไอโอดีนประมาณ 50 ไมโครกรัม สาหร่ายทะเล 100 กรัม มีไอโอดีนประมาณ 200 ไมโครกรัม เกลือทะเล5 กรัม มีไอโอดีน 10-25 ไมโครกรัม แต่ อาหารที่ผ่านการปรุงแล้วมีปริมาณไอโอดีนที่ลดลงมาก
            ไอโอดีนในธรรมชาติจะไม่คงตัว เมื่อไอโอดีนจับกับธาตุอื่นจะคงตัวมากขึ้น เช่น โพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium iodide: KI) จึงนิยมใช้โพแทสเซียมไอโอไดด์เป็นไอโอดีนเสริมในสตรีมีครรภ์ ซึ่งมีความคงตัวมากกว่าโพแทสเซียมไอโอเดต์ (Potassium iodate: KIO3) ที่สลายตัวเมื่อสัมผัสแสงและอากาศ
            ร่างกายต้องการไอโอดีน 150 ไมโครกรัมต่อวัน ทุกวัน เพราะร่างกายมักได้รับไม่เพียงพอจากอาหาร องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดความต้องการไอโอดีนต่อวันสำหรับสตรีมีครรภ์และให้นมบุตรควรได้รับวันละ 250ไมโครกรัม ซึ่งตรงกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยแนะนำให้สตรีมีครรภ์ได้รับไอโอดีนจากอาหารและไอโอดีนเสริม เนื่องจากมีการขับออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ควรได้รับเกิน 900-1,000 ไมโครกรัม และกำหนดให้คนอายุต่างๆควรได้รับไอโอดีนดังแสดงในตารางด้านล่างดังนี้
 
ตารางแสดงปริมาณไอดีนที่ควรได้รับต่อวันในแต่ละช่วงวัย
วัย ความต้องการไอโอดีน (ไมโครกรัม) ต่อวัน
เด็กแรกเกิดถึงอายุต่ำกว่า 5 ปี 90
เด็กเล็กอายุ 6-12 ปี 120
เด็กโตและผู้ใหญ่ 150
สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร 250
 
            ไอโอดีนจำเป็นสำหรับคนทุกวัย แม้แต่คนอายุมากก็ยังจำเป็นต้องรับประทานไอโอดีน เพื่อให้การเผาผลาญพลังงานเป็นไปตามปกติ และช่วยในด้านความจำ
            การขาดสารไอโอดีนพบในประชากรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง และท้องถิ่นที่ห่างไกลทะเล โรคที่เกิดจากการขาดไอโอดีนคือ
  1. คอพอก (ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตกว่าปกติ) หากขาดมากจะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ สาเหตุที่คอโตเพราะต่อมไทรอยด์บริเวณคอถูกกระตุ้นให้สร้างไทรอกซิน ต่อมไทรอยด์จึงทำงานอย่างหนักเพื่อจะจับไอโอดีนในเลือดมาสร้าง แต่ไอโอดีนที่มีไม่พอทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักจึงโต
  2. ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หากเกิดในผู้ใหญ่จะมีอาการเกียจคร้านเชื่องช้าง่วงซึม เหนื่อยง่าย ร่างกายดูดซึมน้ำตาลต่ำ ผิวหนังแห้ง เหงื่อไม่ออกทนความหนาวเย็นไม่ค่อยได้ เสียงแหบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องผูกคอเลสเตอรอลในเลือดสูง บวมน้ำที่ตาทำให้ตาโปน อ้วน (Myxoedema) หากเป็นเพศชายจะมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สำหรับผู้หญิงประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ เกิดถุงน้ำในเต้านมและรังไข่ หากเกิดในเด็กจะมีอาการเหมือนผู้ใหญ่ ปัญญาตำ การเจริญเติบโตทางร่างกายช้า (Cretinism) หากขาดขั้นรุนแรงจะทำให้ตาบอด หูหนวก เป็นไบ้ ปัญญาอ่อน ไม่สามารถแก้ไขได้
  3. ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ทารกกำลังสร้างสมอง จำเป็นต้องใช้ไอโอดีนจากมารดา ในช่วงไตรมาส 2-3 ทารกสามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์บางส่วนได้ แต่ยังต้องอาศัยจากมารดาด้วย ดังนั้นแม่ที่ขาดไอโอดีนขณะตั้งครรภ์ ลูกที่ออกมาจะเป็นปัญญาอ่อนหรือที่เรียกว่า โรคเอ้อ การเจริญเติบโตต่ำ โครงสร้างของกระดูกจมูกและขากรรไกรผิดปกติ และผิวแห้ง แต่ถ้าขาดไอโอดีนรุนแรงอาจจะแท้ง หรือทารกพิการไม่มีแขนขา ระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ ในเด็กแรกเกิดหากขาดไอโอดีนจะเสียชีวิตได้
            นโยบายควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้สตรีมีครรภ์ควรได้รับไอโอดีนเสริม 150 ไมโครกรัมตลอดช่วงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร เพื่อแก้ไขปัญหา "เด็กไทยไอคิวต่ำ" จากผลการสำรวจสถานการณ์ภาวะขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พ.ศ. 2552 ในเด็กทารกจำนวน 760,000 คน พบว่าร้อยละ 90 มีภาวะขาดสารไอโอดีน ผลการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขปี พ.ศ. 2552 พบว่าไอคิวเด็กไทยเฉลี่ย 91 จุด ในขณะที่มาตรฐานสากลอยู่ที่ 90-110 จุด ซึ่งไอคิวเด็กไทยอยู่ในมาตรฐานขั้นต่ำสุด ในส่วนของสตรีมีครรภ์ พบว่าร้อยละ 60 มีระดับไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตรโดยตัวเลขรวมสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือไม่เกินร้อยละ 50ซึ่งการขาดไอโอดีนจะทำให้ทารกที่คลอดมาเสี่ยงพิการและเสี่ยงปัญญาอ่อน องค์การอนามัยโลก องค์กรยูนิเซฟ และกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติว่าสาเหตุสำคัญคือ การขาดสารไอโอดีน
            โรคขาดสารไอโอดีนมีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อทรัพยากรของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 153/2537 เรื่อง เกลือบริโภค กำหนดให้เกลือบริโภคซึ่งหมายถึง เกลือแกงที่ใช้ปรุงหรือแต่งรสอาหารซึ่งบรรจุอยู่ในภาชนะที่พร้อมจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภคเท่านั้นมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ครอบคลุมเพียงเกลือที่บรรจุขวดสำหรับวางบนโต๊ะอาหารเท่านั้น ไม่รวมเกลือบรรจุถุงและเกลือรูปแบบอื่น) แม้ทางภาครัฐได้ส่งเสริมหลายทาง ทั้งการออกกฎหมายบังคับให้ใส่ไอโอดีนในเกลือ การหยดไอโอดีนในน้ำดื่ม ซึ่งก็ช่วยลดการเกิดความพิการ
ได้ แต่ยังไม่หมดไป ทำให้พบคนขาดไอโอดีนอยู่ จึงมีกฎหมายใหม่ให้มีผลเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์เกลือบริโภคน้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง เช่น ซอสปรุงรส ชีอิ้ว แสดงฉลาก โดยเกลือบริโภคต้องระบุว่า "เกลือบริโภค เสริมไอโอดีน" และประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่ปีนี้ 128/2554 เรื่อง เกลือบริโภค กำหนดให้เกลือบริโภคมีปริมาณไอโอดีน 20-40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
            เกลือแบ่งตามแหล่งที่มาได้ 2 ประเภท ได้แก่
  1. เกลือสมุทร เป็นเกลือที่ได้จากการนำน้ำทะเลมาตากแดดให้น้ำระเหยจนเกลือตกผลึกออกมา แม้ว่าในน้ำทะเลจะมีไอโอดีน แต่พบไอโอดีนในเกลือต่ำ เนื่องจากไอโอดีนถูกแสงแดดและความร้อนทำลายในกระบวนการผลิต
  2. เกลือสินเธาว์ เป็นเกลือที่ได้จากการสูบน้ำชั้นใต้ดินขึ้นมา แล้วตากหรือต้มให้น้ำระเหยไป ซึ่งเกลือชนิดนี้ไม่มีไอโอดีน แต่นิยมใช้ทำเกลือบริโภค เพราะขาวสะอาด ภายหลังจึงมีการเติมไอโอดีนลงในเกลือ
            ไอโอดีนมีมากในน้ำทะเลและสัตว์ทะเล แต่เมื่อแปรรูปน้ำทะเลไปเป็นเกลือแล้ว ไอโอดีนจะสลายตัวไป เพราะการผลิตเกลือจะนำน้ำทะเลมาตากแดดและต้ม ไอโอดีนจะถูกแดดและความร้อนทำลายไป สัตว์ทะเลก็เช่นกัน นอกจากนี้การประกอบอาหารยังทำให้ไอโอดีนถูกทำลายลง การได้รับไอโอดีนจากอาหารเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และไอโอดีนมีครึ่งชีวิตในร่างกายประมาณ 10 ชั่วโมงก็จะสลายตัวจนไม่เพียงพอที่จะออกฤทธิ์" จึงทำให้ร่างกายต้องการไอโอดีนทุกวัน ดังนั้นควรรับประทานเกลือเสริมไอโอดีน เลือกใช้น้ำปลาและเครื่องปรุงรสเสริมไอโอดีน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้รับประทานเกลือปริมาณมากขึ้น เพราะการรับประทานเค็มจะส่งผลเสียต่อไตและทำให้ความดันสูง และหากจะหวังพึ่งไอโอดีนจากน้ำปลาเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพออยู่ดี เพราะน้ำปลาทั้งขวดยังให้ไอโอดีน ไม่ถึงปริมาณที่ร่างกายต้องการเลย แต่ที่ต้องเติมไอโอดีนลงในน้ำปลาเพื่อช่วยลดการขาดไอโอดีนให้มากที่สุดในทุกด้านเท่าที่จะทำได้ หากว่าวันใดไม่ได้รับไอโอดีนจากอาหาร อาจรับประทานยาเม็ดไอโอดีนขององค์การเภลัชกรรม ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ไขการขาดไอโอดีนซึ่งมีราคาถูก เพียงเม็ดละ 20 สตางค์ งดบริโภคผักกะหล่ำปลีดิบเนื่องจากมีสารไทโอยูราซิล (Thiouracil) ที่ขัดขวางการดูดซึมไอโอดีน อย่ารอให้อาการขาดไอโอดีนปรากฏ เช่น คอพอก เกิดถุงน้ำในเต้านม สติปัญญาต่ำ แล้วจึงรับประทานไอโอดีน เพราะหากเป็นมาก เช่น ปัญญาอ่อนหรือพิการแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้
            ไม่มีรายงานการเกิดพิษเนื่องจากได้รับไอโอดีนมากเกินไปโดยการบริโภคน้ำหรืออาหาร แต่ไอโอดีนที่อยู่ในรูปของยาควรระวังในการบริโภค การรับประทานไอใอดีนเกินวันละ 2,000 ส่วนในล้านส่วนเป็นเวลานานทำให้เกิดโรคคอหอยพอกเป็นพิษ" (Toxic goiter) มีอาการเหนื่อยง่าย ผอมผิดปกติตื่นเต้น นอนไม่หลับ (Graves disease) ตาโปน การบริโภคโดยตรงในครั้ง เดียวประมาณ 2 กรัม ทำให้ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง ไตวาย หมดสติ และเสียชีวิตได้ แต่การได้รับไอโอดีนมากเกินไปพบได้น้อย และร่างกายก็มีกลไกกำจัดไอโอดีนที่เกิน ผลวิจัยส่วนใหญ่พบว่ายังขาดไอโอดีนกันมาก จึงควรให้ไอโอดีนเสริม
            เนื่องจากยังพบการขาดไอโอดีนขั้นวิกฤติ และประชาชนในเขตห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งของไอโอดีนได้ คือไม่สามารถได้รับไอโอดีนรูปแบบปกติชนิดละลายน้ำเสริมทุกวันได้ องค์การอนามัยโลกจึงให้ไอโอดีนรูปแบบละลายในไขมัน 400 มิลลิกรัมแก่มารดาที่ตั้งครรภ์ในครั้งเดียว แม้ว่าจะปลอดภัย แต่หากสามารถได้รับไอโอดีนรูปแบบปกติชนิดละลายน้ำเสริมทุกวัน จะเป็นการดีกว่า
            ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่มีอันตราย ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
รับประทานเสริมเมื่อไม่ได้รับจากอาหาร ใดยรับประทานในปริมาณที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ผู้ที่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ควรปรึกษาแพทย์ หากเกิดอาการผื่นแดง ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน หายใจไม่สะดวก ควรพบแพทย์


credit ดร.เริงฤทธิ์ สัปปพันธ์ซีลีเนียม

COPYRIGHT©2024 SIAMPILL ALL RIGHTS RESERVED.